กรีนพีช แฉต้นตอปัญหา PM2.5 ซัดปิดโรงเรียน – เวิร์กฟรอมโฮม แก้แค่ปลายเหตุ

วันที่ 23 มกราคม นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ เรื่องวิกฤตฝุ่นขนาดเล็กจิ๋ว หรือ ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศเวลานี้ โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ที่ปริมาณฝุ่นดังกล่าว มีค่าเกิน 100 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร เกือบทุกเขต ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นกับหลายพื้นที่เวลานี้ เกิดมาจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะในเมืองนั้น มีต้นกำเนิดจากการจราจร ซึ่งมีรถยนต์ที่ใช้ดีเซลปริมาณมาก มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิลตั้งอยู่รอบกรุงเทพ ทุกทิศ โรงงานและรถยนต์เหล่านี้ เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี แม้จะมีรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าออกมาบ้าง แต่ก็น้อยมาก

นายธารา กล่าวว่า ก๊าซพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนน็อกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซโอโซน ก๊าซพิษ เหล่านี้ เมื่อถูกปล่อยออกมาทำปฏิกิริยา กับแสงแดด ก็จะเปลี่ยนเป็น PM2.5 กระจายออกไปทั่ว และเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน กระแสลมเปลี่ยน ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเปลี่ยน ไม่ได้มีการระบายออกไปไหน วนเวียนอยู่ในพื้นที่ ให้คนสูดดมเข้าไป

“การที่รัฐ หรือกทม.ประกาศปิดโรงเรียน หรือในทำงานอยู่ที่บ้าน(Work from home) ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย เป็นการทำเรื่องที่ปลายเหตุด้วยซ้ำ การแก้ปัญหา คือ ต้องไปลดปริมาณก๊าซพิษที่เป็นตัวกำเนิด PM2.5 ให้ได้ “นายธารา กล่าว

ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เวลานี้ เรามีแค่มาตรฐานการของ PM2.5 ต้องไม่เกิน37.5 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็มีไป แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก ขณะที่ สิ่งสำคัญคือ มาตรฐานที่ปลายปล่อง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆเรายังไม่มี ทำให้ก๊าซพิษที่ปล่อยออกมาจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม และได้ทำปฏิกริยากับแสงแดดกลายเป็น PM2.5 นั้นมีปริมาณมหาศาล ในช่วงที่อากาศปิด

“รัฐบาลควรพิจารณา กำหนดมาตรฐานปลายปล่องตั้งแต่บัดนี้ให้ชัดเจน ขณะที่ประเทศพัฒนาอื่นๆทั้งยุโรป อเมริกา ในโรงงานอุตสาหกกรรม เขามีการกำหนด หรือมีการตรวจสอบปริมาณมลพิษปลายปล่องกันหมดแล้ว”นายธารา กล่าว

เมื่อถามว่า ทำไมเมื่อก่อนเราไม่เคยเจอปัญหา PM2.5เลย แต่ 10 ปี ที่ผ่านมาเจอทุกปี เมื่ออากาศเปลี่ยน นายธารา กล่าวว่า เมื่อก่อนนี้มีแต่การวัดปริมาณ PM10 ไม่ได้วัด PM2.5 แต่เราเห็นอากาศมัวๆตอนเช้า อันที่จริง มันคือ PM2.5 แต่เราคิดว่าเป็นหมอก แต่ที่จริงมันคือ PM2.5 ต่างหาก

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า วันนี้ ถือเป็นอีก 1 วัน ที่สภาพอากาศในกรุงเทพเลวร้าย รุนแรงมากๆจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยปัญหาเช่นนี้ เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่ออากาศปิด หรือเปลี่ยนฤดูแต่ปัจจัยสำคัญคือ แหล่งกำเนิดมลพิษ

“กทม.มีรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 11.8 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถดีเซล 3 ล้านคัน ซึ่ง 3 ล้านคันนี้ เป็นต้นกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ตัวดีเลย นอกจากนี้ พบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดเล็กและขนาดย่อย 4,598 แห่ง เป็นโรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และถ่านหินเป็นเชื้อเพลง อีกทั้งสภาพพื้นที่กรุงเทพเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ฝุ่นและมลพิษที่เกิดขึ้นกระจุกตัว กระจายตัวยาก อีกทั้งยังพบว่า กรุงเทพ มีตึกสูงเกิน 23 เมตร หรือ 8 ชั้น 2,810 แห่ง มีตึกสูงระหว่าง 100-150 เมตร 115 แห่ง ติด อยู่ในลำดับที่มีตึกสูงมากที่สุด อันดับ 13 ของโลก การระบายอากาศจึงมีสิ่งกีดขวางมาก”นายสนธิ กล่าว

นายสนธิ กล่าวว่า เวลานี้ กรุงเทพ ได้รับอิทธธิพลบจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดมาจากสปป.ลาว และลมตะวันออกที่พัดมาจากประเทศกัมพูชา ลมเหล่านี้ พัดผ่านพื้นที่ที่มีการเผาไร่อ้อย เผาตอซังข้าว สิ่งเหล่านี้ จะพัดเข้ามาในกรุงเทพทั้งหมด ขณะที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพเองก็ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีอำนาจจับรถควันดำ ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ จับคนเผาในที่โล่งก็ไม่ได้ ทำอะไรที่เกี่ยวกับ PM2.5ไม่ได้เลย นอกจากสั่งปิดโรงเรียน ที่ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตนจึงเสนอให้ผู้ว่ากทม.มีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องเหล่านี้ด้วย

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า คพ.ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น ที่เสนอเข้ามาเพื่อแก้ปัญหามลพิษ PM2.5 โดยเวลานี้ให้เจ้าหน้าที่ศึกษาอยู่ในเรื่องการกำหนดมาตรฐานมลพิษปลายปล่อง ซึ่งการกำหนดมาตรฐานแต่ละอย่างยอมรับว่า ต้องใช้เวลา ต้องเก็บข้อมูล

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้ เพราะคนกรุงเทพรู้สึกแย่กันมากๆ น.ส.ปรีญาพร กล่าวว่า ตอนนี้คพ.ร่วมกับกทม. กรมฝนหลวง โดย กทม.กำหนดพื้นที่วันพฤหัส และศุกร์ ห้ามรถที่ไม่ผ่านมาตรฐาน วิ่งเข้าไปในพื้นที่ ถ.รัชดา วงแหวน ส่วนกรมฝนหลวง ได้บินโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อเปิดช่องระบายอากาศ ระบายฝุ่นออกพื้นที่ด้านบน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *